ปีศาจและมูริญโย่ [บทความแปลยาวตอน 1]
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของกูรูด้านแทคติคจากอังกฤษอย่างโจนาธาน วิลสัน (Jonathan Wilson) และพบว่างานเขียนในคอลัมน์กีฬาของเขานั้นมักจะเป็นการให้ความเห็นและวิเคราะห์ในด้านแทคติคของฟุตบอลอย่างน่าสนใจและเฉียบคม คือไม่ใช่บทความสั่วๆที่แค่พูดๆไปโดยสะบัดสำนวนแปลกๆแต่ไม่ได้มีใจความมากมายแต่เป็นบทความที่เต็มไปด้วยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของแทคติคฟุตบอลและผ่านการค้นคว้าอย่างดี สำหรับวิลสัน นั้นมีผลงานที่ชื่อ Inverting the Pyramid: The History of Football Tactics ซึ่งเป็นหนังสือที่ขึ้นหิ้งแนะนำของพวกที่คลั่งไคล้ฟุตบอลในโลกตะวันตก (ผมพึ่งสั่งซื้อไป) หรืองานเขียนที่เกี่ยวกับลิเวอร์พูล เรียกได้ว่าวิลสันคนนี้เป็นคอลัมนิสต์ด้านฟุตบอลที่มีความรู้แน่นและมีจุดแข็งในการเขียนที่ยอดเยี่ยม (ใครเก่งภาษาอังกฤษแนะนำให้ลองไปอ่านบทวิเคราะห์ว่าทำไมสเปอร์ถึงมีแนวรับที่เข้มแข็งในฤดูกาลนี้ได้เป็นตัวอย่าง)
เรื่องของเรื่องก็คือ วิลสันได้เขียนบทความยาวมากเกี่ยวกับ มูริญโย่ [
http://www.theguardian.com/football/2015/dec/22/devil-and-jose-mourinho] ซึ่งอธิบายแนวคิดด้านแทคติค การกำเนิดขึ้นด้านวิธีคิดของเดอะสเปเชี่ยลวันตั้งแต่เด็กจนถึงการจากลาบาร์เซโลน่า และสาเหตุต่างๆที่ทำไมมูริญโย่ถึงล้มเหลวกับเชลซีในได้อย่างน่าสนใจผ่านการวิเคราะห์เชิงแทคติค การสัมภาษณ์ และการค้นคว้างานเขียนต่างๆอย่างดีเยี่ยม บทความของวิลสันได้ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (the guardian) ซึ่ง มีความยาวพอสมควร ด้วยความที่ผมอยากจะแบ่งปันบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ ผมจึงต้องพยายามสรุปรวบรัดโดยจะไม่แปลตรงตัวมากนักและทิ้งรายละเอียดหลายอย่างไป แต่จะเลือกส่วนที่สำคัญมาลงเพื่อให้เห็นภาพของชายผู้ประสบความสำเร็จอย่างมากในโลกฟุตบอล อย่างไรก็ดี ผมจะทยอยแปล/สรุปบทความเป็นส่วนๆเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจชายคนนี้มากขึ้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ในช่วงเริ่มต้นของเดือนพฤษภาคม 2015 เชลซีกำชัยในพรีเมียร์ลีคด้วยชัยชนะที่ทุลักทุเลเหนือพาเลซ 1-0 เกมดังกล่าวไม่ยอดเยี่ยมมากนัก วันดังกล่าวเป็นความโล่งใจและความสุขใจของผู้จัดการทีมเชลซีอย่างมูริญโย่ที่ได้กำถ้วยพรีเมียร์กับเชลซีเป็นครั้งที่สามตั้งแต่การกลับมาของเขาในปี 2013
ตามปกติการเป็นแชมป์ลีคควรจะเต็มไปด้วยบรรยากาศสบายๆ ผู้สื่อข่าวได้ถามมูริญโย่ว่า "บอกหน่อยว่าคุณนำทีมกำถ้วยได้อย่างไร และใครคือผู้เล่นที่สำคัญที่สุด และเกมไหนคือเกมที่สำคัญ"
มูริญโย่ ผู้ซึ่งหน้าบูดเบี้ยวตลอดเวลา มองว่านี่เป็นเวลาที่สมบูรณ์แบบในการที่จะปล่อยหมัดในการพูดถึงความแค้นของเขาต่อเป็บ กวาดิโอล่า (Pep) ผู้ถูกแต่งตั้งในฐานะผู้จัดการทีมของบาร์ซ่าในปี 2008 แทนที่จะเป็นมูริญโย่ ในช่วงนั้นเอง เป็บเป็นเพียงโค้ชที่ขาดประสบการณ์ แต่สามารถนำบาร์ซ่าเถลิงแชมป์อย่างยิ่งใหญ่กับบาร์ซ่าโดยการทำทีมที่โลกทราบกันดีถึงความตื่นตาตื่นใจและการปฏิวัติวงการลูกหนังอย่างยิ่งใหญ่ มูริญโย่ได้กล่าวลอยๆว่า "สำหรับผม ผมไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดที่จะเลือกประเทศและสโมสร ผมสามารถเลือกประเทศและสโมสรซึ่งการเป็นแชมป์นั้นง่ายดายมาก" แน่นอน มูริญโย่ไม่ได้พูดถึงเป็บ กวาดิโอล่าโดยตรง แต่ข้อความและความหมายค่อนช้างชัดเจน สิ่งที่เป็บประสบความสำเร็จกับบาร์เยินนั้น มูริญโย่มองว่ามีค่าน้อยกว่าที่ตัวเขากำชัยในลีคอังกฤษมากนัก
มูริญโย่ยังได้กล่าวต่อไปว่า "ผมเลือกที่จะเสี่ยง ผมนำพาแชมป์ในทุกๆสโมสรที่คุม ... การเป็นแชมป์ลีคในสเปนด้วยแต้ม 100 กว่าโดยชนะทีมอย่างบาร์ซ่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง บางทีในอนาคตผมอาจจะต้องทำตัวฉลาดกว่านี้โดยการเลือกสโมสรในประเทศอื่นซึ่งทุกๆคนเป็นแชมป์...บางทีผมอาจจะได้ไปประเทศที่เด็กช่างไร้ประสบการณ์สามารถเป็นโค้ชและทำทีมเป็นแชมป์ลีค บางทีผมควรจะทำตัวฉลาดกว่านี้ แต่ผมก็ชอบความยากของที่นี่ [อังกฤษ]ผมอยู่ถูกที่และจะไม่ไปไหนนอกจากอับราโมวิชจะบอกให้ผมไป"
แม้กระทั่งโดยมาตรฐานของมูริญโย่ สิ่งที่เขาพูดฟังดูพิลึก ด้วยเหตุผลอะไรที่คนที่พึ่งชูถ้วยลีคเลือกที่จะเหน็บแนมคู่แค้นของเขา คู่แค้นซึ่งทำทีมในอีกประเทศ และไม่ใช่เพียงการถากถางธรรมดาแต่เป็นการโจมตีเต็มรูปแบบ
แม้ว่าการกล่าวถึงเป็บจะเป็นเรื่องแปลก แต่ก็เป็นแพทเทิร์นเดิมๆของมูริญโย่เองซึ่งหมกมุ่นกับบาร์เซโลน่า และโดยเฉพาะเป็บผู้ซึ่งเป็นตัวแทนความเฉิดฉายของปรัชญาต่างดาวซึ่งตั้งแต่พาบาร์ซ่ามายิ่งใหญ่เป็บได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ของบาร์ซ่า มูริญโย่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของคัมป์นู แต่เช่นกันเขาถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย เขาเคยทำงานกับหลุยส์ ฟานฮาล (LVG) ในทศวรรษที่ 90 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บาร์ซ่าเป็นบ้านของเหล่าโค้ชที่จะสร้างฟุตบอลสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน
มูริญโย่จากบาร์ซ่าเพื่อที่จะตามหาโชคและเขาก็ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเขาต้องการกลับไปเยือนถิ่นเดิม เหล่าอาร์ซูลกราน่ากลับปฏิเสธเขา มูริญโย่ไม่ใช่เป็นนักเตะของบาร์ซ่าแต่เป็นเพียงล่ามซึ่งเปลี่ยนมาเป็นโค้ช มูริญโย่ไม่ใช่พวกบาร์ซ่า เขาไม่ได้คิดเหมือนกับเด็กบาร์ซ่า มูริญโย่มองฟุตบอลโดยไม่ถามว่าเราจะชนะอย่างไรให้สวยงามหากแต่เขามองเกมและถามเพียงแค่ว่าเราจะชนะอย่างไร เขามีความเป็นนักปฏิบัติสูง ซึ่งหมายความว่าเขาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งจริงๆของบาร์ซ่า ในปี 2008 มูริญโย่มีเกียรติประวัติมากมายแต่สโมสรแห่งคาตาลันเลือกคนของพวกเขาเอง มูริญโย่เป็นเพียงคนนอก เป็นขบถ และเป็นเทวดาตกสวรรค์ของสโมสรบาร์เซโลน่าเท่านั้น เขาเริ่มที่จะนิยามตัวเองให้ตรงกันข้ามกับบาร์เซโลน่า มูริญโย่จะไม่ยอมปรับตัวเข้ากับวิธีเล่นฟุตบอลอันเร้าใจแต่จะนำเสนอวิธีการของเขาเองเพื่อพิสูจน์ว่าเขานั้นถูกต้อง
บาร์เซโลน่าในช่วง 90 เป็นสถานที่อันแสนวิเศษตามที่ได้กล่าวมาเพราะเป็นที่บ่มเพาะโลกฟุตบอลในปัจจุบัน (ผู้จัดการทีมชื่อดังหลายคนในปัจจุบันได้โตมาจากแนวคิดของบาร์ซ่าในช่วงนั้น) การมาของ Rinus Michels ณ แคว้นคาตาลัน ใน 1971 ได้พาบาร์ซ่าให้รู้จักกับแนวคิด "โททั่ลฟุตบอล" (total football) ซึ่งเป็นความเชื่อในการเล่นแบบครอบครองบอล (possession football) การเล่นโดยดันผู้เล่นให้สูงขึ้น การเพรซซิง และการหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งของนักเตะในสนาม ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 1973 บาร์ซ่าได้มาเจอกับโยฮัน ครัฟท์นักเตะกองหน้าเลือดดัทช์ และเมื่อครัฟท์เป็นผู้จัดการของบาร์ซ่าในปี 1988 เขาได้ตอกย้ำปรัชญาดังกล่าวของโททัลฟุตบอลอีกครั้งให้กับบาร์ซ่า แม้ว่าครัฟท์จะเคยมองว่าการทำทีมของ LVG จะทำให้บาร์ซ่ามีความแข็งทื่อ แต่รากฐานของปรัชญาก็มาจากที่เดียวกัน ปรัชญาทั้งหมดที่ว่ามานั้นบินจากอาแจกซ์มาสู่บาร์เซโลน่า เราอาจจะเรียกสิ่งนี้ได้ว่า "สำนักบาร์แจ็กซ์" (the Barcajax School)
มูริญโย่ไม่เป็นเพียงคนนอกที่มองเข้าไปในปรัชญาดังกล่าว เขาไม่เคยเล่นให้บาร์ซ่าหรืออาร์แจกซ์ แต่การทำงานของเขานั้นดำเนินไปภายใต้จมูกของนักคิดสำนักบาร์แจ็กซ์ ปรัชญาเหล่านี้ไม่ได้ถูกฝังในจิตใจของมูริญโย่ ในช่วงเวลากับบาร์เซโลน่า ฟานฮาลนั้นได้เกิดประทับใจในการเสนอแนวคิดต่างๆของมูริญโย่และอนุญาตให้มูริญโย่เสนอแทคติคต่างๆช่วงพักครึ่งทั้งยังให้ลองคุมบาร์ซ่าในเกมอุ่นเครื่องเป็นบางครั้ง ฟานฮาลยังเคยกล่าวด้วยว่าเขาอยากฟังว่ามูริญโย่จะพูดอะไรและท้ายที่สุดเขารับฟังมูริญโย่มากกว่าผู้ช่วยคนใดๆก็ตาม
ใช่ บาร์เซโลน่าเป็นที่บ่มเพาะทางการศึกษาในโลกลูกหนังของมูริญโย่ เขาได้ลองนำสิ่งที่เขาบ่มเพาะมาจากสโมสรอันยิ่งใหญ่ไปลองปฏิบัติ มูริญโย่ได้รับการแต่งตั้งในฐานะโค้ชที่ปอร์โต้ (มีสโมสรหนึ่งก่อนหน้าแต่จะไม่ลงไปรายละเอียด) ซึ่งเป็นที่ๆแนวคิดของมูริญโย่จะได้รับการทดลองเต็มรูปแบบ หนึ่งในนักเตะของมูริญโย่ได้พูดถึงแนวการเล่นของมูว่า "บางครั้งเขาก็อยากให้เราบีบขึ้นสูง บางครั้งเขาก็อยากจะให้เราทำอะไรอย่างรวดเร็วเมื่อเราเสียบอลกลางสนาม" แต่ทว่าการครองบอลกลางสนามไม่ใช่สิ่งที่มูริญโย่ให้ความสำคัญนัก มูริญโย่ได้มองว่า "การที่บอลยิ่งเวียน ณ ตรงกลางสนามมากเท่าไรยิ่งหมายความว่าเรามีโอกาสที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามแย่งบอลไปได้มากยิ่งขึ้น" คำกล่าวนั้นที่ปอร์โต้เป็นการแสดงออกถึงทฤษฎีที่จะเป็นที่รู้จักมากขึ้่นภายหลัง
มูริญโย่จะเตรียมเอกสารมากมายก่อนเกมอย่างละเอียด เพื่อที่จะศึกษาว่านักเตะฝั่งตรงข้ามแต่ละคนชอบเคลื่อนที่อย่างไรบ้างและผู้เล่นพวกนั้นมีนิสัยอย่างไร และจะเรียกใบแดงได้ไหม และมูริญโย่จะเตรียมแผนการว่าการเล่นที่เหลือเพียง 10 คนนั้นจะทำได้อย่างไร Vitor Baia ผู้รักษาประตูปอร์โต้ได้ยกยอมูริญโย่ว่าเขาเหมือนทำนายอนาคตได้ กล่าวคือ มูริญโย่พยายามคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆและความเป็นไปได้ของเกมที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุดและฝึกซ้อมแนวทางรับมือต่างๆ ผู้เล่นหลายคนได้กล่าวถึงการที่มูริญโย่ได้เคยทำนายหลายสิ่งหลายอย่างอย่างที่เกิดขึ้นอย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการที่ฝั่งตรงข้ามจะเปลี่ยนผู้เล่นแบบใดลงมา หรือไม่ว่าจะเป็นการที่ครึ่งหลังนั้น ทีมฝั่งตรงข้ามจะเปลี่ยนแทคติคอะไร การที่มูริญโย่รู้ก่อนล่วงหน้าหมายความว่าเขาสามารถฝึกซ้อมทีมให้รับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างพร้อมเพรียง
อีกหนึ่งแนวทางของมูริญโย่คือแนวทางจิตวิทยา เป็นที่ทราบกันดีว่าความสามารถในการใช้สื่อเป็นจุดแข็งของมูริญโย่ตลอดเวลาโดยการยั่วทีมคู่แข่งหรือกดดันกรรมการ ผลหลายครั้งก็คือมูริญโย่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายในทีมของเขาได้
ปอร์โต้ภายใต้บังเหียนของมูริญโย่เป็นแชมป์ลีคด้วยคะแนนที่ทุบสถิติเดิมและยังกระชากทั้งถ้วยปอร์ตุเกสและถ้วยยูเอฟ่ามาไว้ครอบครอง ซึ่งแทคติคของเขาในรอบชิงนั้นทำให้มาร์ติน โอนีล ผู้จัดการทีมเซลติคหัวเสียมากและได้กล่าวหาว่ามูริญโย่ทำทีมโดยให้นักเตะจงใจพุ่งล้ม แกล้งเจ็บ และถ่วงเวลา ในฤดูกาลต่อมาปอร์โต้ป้องกันแชมป์ลีคและได้ถ้วยแชมป์เปี้ยนส์ลีคอันยิ่งใหญ่ไปครอง ซึ่งเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในยุคสมัยปัจจุบันสำหรับทีมอย่างเช่นปอร์โต้ ต่อมาในปี 2004 มูริญโย่ได้รับการแต่งตั้งในฐานะผู้จัดการทีมเชลซี
แม้ว่ามูริญโย่สร้างสเน่ห์ให้กับบอลอังกฤษในฤดูกาลแรกที่เขาเข้ามา แต่ผู้คนมักจะลืมว่าก่อนที่มูริญโย่จะเข้ามากุมบังเหียนนั้น เชลซีตะกุกตะกักเช่นไรในแง่ของแทคติค อย่างไรก็ดี ในหกเกมแรกที่เดอะสเปเชี่ยลวันคุมเชลซี ทีมเสียเพียงแค่หนึ่งประตูและได้ 14 แต้มไว้ครอบครอง แต่ทว่าสิงห์บูลยิงเพียงแค่หกประตู มูริญโย่มักพูดถึงแนวทางเปลี่ยนผ่านจากรุกเป็นรับ และจากรับเป็นรุก และยังนำเสนอคอนเซปต์ที่เรียกว่า "Resting on the Ball" หรือการส่งกลับหลังเพื่อซื้อเวลาให้ผู้เล่นพักเหนื่อยและตั้งตัวได้ แนวทางของมูริญโย่ค่อนข้างเป็นไปในลักษณะน่าเบื่อหากจะว่ากันตามตรง
ในเกมกับมิดเดิลส์โบร์ห์เดือนกันยายน 2004 มูริญโย่เปลี่ยนฟอร์เมชั่นของสิงห์บูลเป็น 4-3-3 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเชลซีในช่วงเวลาดังกล่าวและทุกอย่างก็เริ่มลงตัว แลมป์พาร์ดลงไปเป็นกองกลางตัวเชื่อมบอลซึ่งเขาทำได้ยอดเยี่ยมและสามารถวิ่งเข้าไปทำประตูจากแถวสองได้อย่างไม่เคอะเขินซึ่งทำให้ยิงได้ถึง 13 ลูกในฤดูกาลดังกล่าว ในแง่ของแทคติค มูริญโย่ระแวดระวังมากกว่าที่เคย ท้ายที่สุดเชลซีคว้าแชมป์ลีคได้อย่างเลือดเย็นและไร้ความปราณี
ปัญหาเดียวคือเจ้าของทีมสิงห์บูลต้องการความตื่นเต้นเร้าใจของเกมลูกหนังมากกว่าแค่เพียงพาทีมคว้าชัยชนะ ดังนั้นจึงมีการนำเข้าดาวดังต่างๆอย่างเชฟเชนโก้ซึ่งท้ายที่สุดมูริญโย่ และอัมราโมวิชจึงต้องแยกทางกัน ซึ่งมูริญโย่ได้บ่นว่าสโมสรได้พยายามซื้อนักเตะแนวรุกโดยที่ทีมขาดแคลนนักเตะที่เล่นเกมรับได้ดี ท้ายที่สุด หลังการสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2007 มูริญโย่ก็จากเชลซีไปอย่างไม่สวยงามนัก
ในช่วงก่อนเริ่มฤดูกาล 2008-2009 บาร์ซ่าได้ไล่แฟรงค์ ไรจ์กาจ และเริ่มหาตัวแทนที่จะเข้ามากุมบังเหียนบาร์เซโลน่า มูริญโย่ได้เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อแทนที่ตำแหน่งของไรจ์กาจ โดยผู้ที่สัมภาษณ์เขาคือ Txiki Begiristain ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสโมสร มูริญโย่ได้ทราบว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่โยฮัน ครัฟท์ ผู้ซึ่งไม่มีตำแหน่งทางการของสโมสรแต่เป็นตำนานผู้มีชีวิตของปรัชญาสำนักบาร์แจ็กซ์ ผู้ซึ่งมีอิทธิพลเหนือการเมืองใดๆก็ตามของสโมสร มูริญโย่พยายามมากถึงขนาดที่โทรไปหาโจน ลาปอร์ต้าเพื่อขอพูดคุยกับโยฮัน ครัฟท์ ซึ่งลาร์ปอร์ต้าตอบอย่างนิ่มนวลว่าบาร์ซ่าจะแต่งตั้งเป็บ กวาดิโอล่าผู้ไร้ประสบการณ์ มูริญโย่ได้กล่าวต่อลาปอร์ต้าว่าสโมสรได้กระทำการผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด
ในหนังสือของ Ferran Soriano หนึ่งใน CEO ของบาร์เซโลน่าในขณะนั้น เขาได้บรรยายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าการตัดสินใจอยู่แค่จะเลือกระหว่างมูริญโย่และเป็บ "แน่นอนมันชัดเจนมากว่ามูริญโย่เป็นโค้ชที่ยอดเยี่ยม แต่เราคิดว่ากวาดิโอล่าจะยอดเยี่ยมยิ่งกว่า...มูริญโย่เป็นผู้ชนะ แต่ในการนำพามาซึ่งชัยชนะวิธีการของเขานำพามาซึ่งความตึงเครียด และนั่นจะเป็นปัญหา"
ตั้งแต่นั้นมูริญโย่ไม่เคยยกโทษให้กับบาร์เซโลน่าเลย
(อ่านตอนจบได้ที่ http://www.soccersuck.com/boards/topic/1347561)
credit: the Guardian [
http://www.theguardian.com/football/2015/dec/22/devil-and-jose-mourinho]